ทำการค้าออนไลน์ต้องรู้อะไรบ้าง สรุปงานสัมมนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดย Sokochan
19 ต.ค. 60 ธุรกิจ 1907

ทำการค้าออนไลน์ต้องรู้อะไรบ้าง สรุปงานสัมมนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดย Sokochan

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา Sokochan บริการจัดเก็บและจัดส่งสำหรับผู้ค้าออนไลน์ในไทยได้จัดกิจกรรม “จากติดลบ… สู่ติดลม ด้วยธุรกิจออนไลน์ 4.0” ขึ้นที่อาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งทีมงานเว็บแบไต๋ก็ได้มีโอกาสร่วมงานในครั้งนี้ จึงขอสรุปความรู้ทั้งหมดในงานให้อ่านกัน

“ร้านค้าเอาเวลาไปแพ็คของ ต่อคิวส่งของ แทนที่จะพัฒนาธุรกิจ”

งานนี้เริ่มต้นโดยคุณเอเดรียน สจ๊วต ผู้บริหารของโซโกะจัง สรุปภาพของ Sokochan บริการแพ็คของ ส่งของ โดยสาระสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นปัญหาว่าร้านค้าส่วนใหญ่ใช้เวลาแพ็คของ ส่งของ แทนที่จะเอาไปทำธุรกิจ แล้วตอนนี้ e-commerce มีส่วนแบ่งแค่ 3.8% ของค้าปลีกในไทย ยังวุ่นวายขนาดนี้ ต่อไปเมื่อ e-commerce โตขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตของ 3G/4G หรือบริการอย่าง facebook ก็สามารถรับชำระได้ในหน้าแซทเลย ทำให้เรามีโอกาสขายของได้มากขึ้น แต่ทุกอย่างต้องมาตันเพราะเอาเวลาไปทิ้งกับการแพ็คของ ส่งของ

และอนาคตการแข่งขันยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะต่างชาติก็ส่งของมาขายในไทยได้ บริการอย่าง Lazada global shipping ทำให้ผู้ค้าทั่วโลกก็สามารถขายในไทยได้ ปีที่แล้วใช้เวลาส่งข้ามประเทศ 8-11 วัน ปีนี้เหลือ 7-8 วัน ก็ถึงเมืองไทยแล้ว แล้วผู้ค้าที่ออกไปส่งสินค้าช้าๆ อย่าง 5 วันออกไปส่งครั้งหนึ่งจะสู้ได้ยังไง

เอเดรียน สจ๊วต และเมย์-เบญจพร ชัยบุรี ผู้บริหารของ Sokochan

sokochan จึงเป็นบริการที่เข้ามาช่วยในจุดนี้ เพราะผู้ค้าแค่จัดส่งสินค้ามาเก็บไว้ในโกดังของโซโกะจัง แล้วสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพื่อนำออเดอร์มาให้ทีมงานโซโกะจังหยิบของ แพ็คของ แล้วจัดส่งตามช่องทางที่เหมาะสม อัตราค่าส่งก็ถูกกว่าไปส่งเอง และ sokochan ยังมี api เชื่อมกับบริการของ lazada, shoppee, shipity, xcommerce มีการซิงค์แบบสองทาง ทำให้ผู้ค้าแทบไม่ต้องทำอะไร รายการออเดอร์จากหน้าร้านจะวิ่งเข้าระบบของโซโกะจังเอง ลูกค้าจ่ายเงินเสร็จ โซโกะจังก็ได้ออเดอร์ให้แพ็คต่อเลย ผู้ค้าแค่เช็คข้อมูล วิเคราะห์สถิติก็พอ ทำให้ลดแรงงานในการทำธุรกิจไปมาก

“เทคนิคการทำ e-Commerce ให้ประสบความสำเร็จ” ดร.เป๊ปเปอร์-รัฐศาสตร์ กรสูต

ดร.เป๊บเปอร์-รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซและการตลาดออนไลน์ประสบการณ์ กว่า 20 ปี ทั้งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจออนไลน์ การตลาด และสื่อสาร โทรคมนาคม และการศึกษา ในหน่วยงานภาครัฐและ ภาคเอกชน
  1. เรื่องความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการค้าออนไลน์ เราจึงควรมีคำอธิบายว่าเราคือใคร มีนโยบายการคืนของยังไง จะทำให้คนกล้าซื้อมากขึ้น
  2. การค้าขายก็ควรจะ upsale ด้วย นำเสนอสินค้าที่น่าสนใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน (ถ้าคิดไม่ออกให้นึกถึง 7-11 ที่พนักงานจะนำเสนอสินค้าที่เคาน์เตอร์) หรือใช้เทคนิคซื้อของชิ้นหนึ่ง อีกชิ้นหนึ่งลดให้ 10% ก็จะทำให้เราได้ยอดขายต่อครั้งมากขึ้น
  3. เพื่อนมีผลมากในการซื้อ ถ้าเพื่อนใช้ เราก็อยากใช้ด้วย การทำตลาดจึงควรเน้นสร้างกระแสปากต่อปากด้วย
  4. การค้าขายวันนี้จึงเน้น SMM – S-social มีการสื่อสารกันระหว่างคนซื้อขาย, M-Media สื่อในการสื่อสาร, M-marketing การดลาดที่สำคัญตลอดกาลในโลกการขาย
  5. Social commerce จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันตอบโจทย์การค้าขายแบบออฟไลน์ด้วย มีการพูดคุยระหว่างผู้ค้ากับคนขาย
  6. amazon บอกว่าคนใจร้อนขึ้น ซื้อของแล้วก็อยากได้เลย amazon สามารถส่งของถึงภายในบ่าย 3 ถ้าปิดการขายไม่เกิน 4 ทุ่ม เสร็จแล้วส่งไปที่ amazon locker ให้ผู้ซื้อนำโค้ดไปเปิดตู้รับสินค้าเอา
  7. ห้าง sears ทำการขายออนไลน์ผสมออฟไลน์ เมื่อสั่งของออนไลน์ แล้วไปที่บริเวณห้าง จะมีพนักงานเอาของมาใส่รถให้
  8. ตอนนี้ facebook ลดอัตราการเห็นลงไปมาก น้อยกว่า 0.5% แต่ถ้าคนหยุดดูเรื่องไหน เฟซบุ๊กก็จะนับความสำคัญของเรื่องนั้น หัวข้อจึงต้องดึงดูดความสนใจของคนให้ได้
  9. คีย์สำคัญของการทำเนื้อหาคือ ทำเนื้อหาที่คนอยากฟัง ไม่ใช่ทำที่เราอยากสื่อออกไปอย่างเดียว หรือบอกเรื่องใหม่ๆ ที่คนสนใจ ก็จะทำให้แบรนด์ได้รับความสนใจมากขึ้น
  10. พยายามใส่ใจการสร้างความรู้ ให้ความรู้ผู้สนใจสินค้าของเรา เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือกับแบรนด์ของเรา

เครื่องมือออนไลน์ที่ดร.เป๊ปเปอร์แนะนำ

  • Cyfe – เครื่องมือในการมอนิเตอร์มีเดียของเรา ใช้ฟรี
  • Rival IQ – เครื่องมือตรวจสอบคู่แข่ง มีคนตามเท่าไหร่ พูดเรื่องอะไร โพสต์ไหนมีคนสนใจเยอะ เนื้อหาไหนของคู่แข่งมีเอนเกจสูง เวลาไหนโพสต์แล้วดี
  • buffer – เอาไว้ใช้ตั้งเวลาโพสต์
  • pablo – เครื่องมือช่วยทำภาพให้สวย เอาข้อความของเราไปใส่

บริการของไปรษณีย์ไทยในยุค e-commerce

พีระ อุดมกิจสกุล, ผู้จัดฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  1. ไปรษณีย์ไทยครอบคลุมการจัดส่งทั่วประเทศ มี 1,400 ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ สามารถจัดส่ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ บนเกาะ หรือบนเขาก็จัดส่งถึง เป็นขนส่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยที่สุด วันหนึ่งรองรับพัสดุไม่ต่ำกว่า 5 ล้านชิ้น
  2. มีคลังสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่บางนา พร้อมรถจัดส่งควบคุมอุณหภูมิ ทำงานยากๆ อย่างการส่งน้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยมากกว่าหมื่นคน
  3. บริการ EMS การันตีว่าในอำเภอเมืองที่มีสนามบิน หรือในกรุงเทพ จะส่งถึงวันรุ่งขึ้น (ถ้าส่งทันเวลาบ่ายสามหรือบ่ายสี่) พร้อมบริการ EMS super speed จัดส่งได้ภายในวันเดียว
  4. บริการใหม่ D-pocket ช้ากว่า EMS นิดหน่อย แต่ราคาประหยัดกว่า เกิดใหม่เพื่อตอบสนอง e-commerce โดยตรง เชื่อม API กับลูกค้า ทำให้ไม่ต้องไปรอคิวที่ไปรษณีย์ ยกของทั้งชุดมาส่งที่ช่องพิเศษได้เลย เจ้าหน้าที่ก็แค่สแกนเข้าระบบ ไม่ต้องรอนาน ถ้าส่งมากกว่า 2,000 บาท สามารถจัดเจ้าหน้าไปที่รับของได้เลย และกำลังทำตู้ dropoff อัตโนมัติ เพื่อที่จะไปส่งได้ต้วยตัวเองจริงๆ สามารถทำบริการ COD (Cash on Delivery – เก็บเงินปลายทาง) ได้ด้วย และจะโอนเงินให้ทุกสัปดาห์
  5. บริการ Drop off ให้ผู้ค้าสามารถนำของไปฝากส่งที่ไปรษณีย์ต่างๆ ได้ เช่นขยายโรงงานไปต่างจังหวัด ก็สามารถส่งจากต่างจังหวัดได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินตรงหน้า แต่มาเคลียร์เงินกับบัญชีเป็นรอบๆ ไป ทำให้จัดการง่าย
  6. มีรถรับ-ส่งสินค้าทุกขนาด ตั้งแต่จักรยานยนต์จนรถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่มากกว่า 10 ล้อ ซึ่งสามารถติดต่อไปรษณีย์ไทยเพื่อให้เข้าไปรับสินค้าได้

เคล็ดลับการค้าออนไลน์จากผู้ค้าที่ประสบความสำเร็จ

(ซ้าย)คุณนุ, คุณแอปเปิ้ล, คุณฟ้า, คุณหมิง และคุณตุ่น-ปริญญารัตน์

ดำเนินรายการโดยคุณตุ่น-ปริญญารัตน์ สำราญวงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์แห่งประเทศไทย

คุณหมิง – indyroom.com ขายเสื้อยืดออนไลน์

ร้านค้าออนไลน์ 100% ผลิตได้เพราะรู้จักโรงงาน ลูกค้าเข้ามาทางกูเกิ้ลและโฆษณาเฟซบุ๊ก เนื่องจากมีหน้าเว็บ และระบบ Marketplace ของตัวเอง จึงสามารถทำระบบตัดบัตรเครดิตและเก็บเงินปลายทาง (COD) ได้ง่ายๆ แต่คนไทยยังใช้บัตรเครดิตน้อยอยู่ ประมาณ 2-3 % ของยอดขายทั้งหมดเอง คนส่วนใหญ่ใช้ COD มากกว่า ซึ่งอาจจะเพราะสินค้าใน Indyroom.com เป็นสินค้าระดับราคาไม่แพง กลุ่มผู้ซื้อจึงมีกลุ่มรายได้ไม่มากด้วย

ปัญหาที่เคยเกิดคือ พอของเริ่มเยอะก็ต้องไปเช่าออฟฟิศเก็บ จ้างคนแพ็ค จ้างวินมอเตอร์ไซค์ แล้วมาคิดค่าใช้จ่าย fix cost รวมๆ แล้วสูงกว่าใช้บริการของ sokochan อีก แถมมีปัญหา ส่งของผิด วันจันทร์งานหนักเพราะออเดอร์สะสมเสาร์-อาทิตย์ หลังๆ เลยใช้บริการของโซโกะจังแทน ต้นทุนก็คิดไปตามที่ใช้จริง ไม่ต้องแบก fix cost ที่ไม่ได้ใช้ และไม่ต้องมานั่งจัดการคนแล้ว ก็ไปโฟกัสเรื่องอื่นๆ แทน

อยากให้ศึกษาเรื่องเฟซบุ๊กโฆษณา เพื่อปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ได้

คุณฟ้า – getshop ขายห่วงยางแฟนซี

คุณฟ้าแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าใช้โซโกะจังประหยัดกว่าจ้างพนักงานเยอะ และจากเดิมมีปัญหาหลังบ้านมากๆ มีกรณีที่ของหมดไปแล้ว แต่ไม่รู้คุณฟ้าก็ยังไม่รู้ ยังไปรับออเดอร์มาอีก การใช้โซโกะจังจึงเห็นจำนวนสต็อกของตลอดโดยที่ไม่ต้องนั่งอัปเดทเอง ประหยัดเวลามาก

ข้อมูลหลังบ้านของโซโกะจังยังช่วยให้วางแผนโปรโมชั่นได้ คือห่วงยางจะบูมมากในช่วงหน้าร้อน พอฤดูอื่นๆ ก็กางสถิติดูว่าสินค้าตัวไหนเหลือเยอะ และจัดโปรโมชั่นเซลล์ เทคนิคของร้านคือช่วงหน้าร้อนจะอัดโฆษณาเต็มที่ แต่ไม่ลดราคามากนัก ส่วนหน้าฝนก็จะเน้นเรื่องเซลล์มากกว่า เน้นยิงโฆษณาไปที่หน้าร้าน

ร้าน getshop ไม่ได้ขายออนไลน์อย่างเดียว แต่ขายปลีกใน loft ด้วย ก็สามารถสั่งงานผ่านโซโกะจังเพื่อดูแลสินค้า จัดส่งของเดือนละครั้ง เป็นร้อยๆ ตัวเข้าหน้าร้านก็ได้ คุณฟ้าจึงสามารถทำงานผ่านสมาร์ทโฟนได้ เคยไปเที่ยวยุโรปก็ยังจัดส่งสินค้าได้

ไม่ต้องรู้ทุกอย่าง พร้อมทุกอย่าง ถึงจะลงมือทำ เพราะมันทำให้เกิดความกลัวในใจ การลงมือทำสำคัญที่สุด”

คุณแอปเปิ้ล- Dearly Beautie ขายเครื่องสำอาง

คุณเปิ้ลขายเครื่องสำอางอินเดีย ขายทั้งปลีกและส่งด้วย จุดพลิกพันที่ทำให้มาใช้บริการจัดเก็บและจัดส่งของโซโกะจังเลยคือ ลูกค้าสั่งของไปตั้งใจจะให้พ่อใช้ แต่ร้านส่งของให้ลูกค้าช้า จนคุณพ่อของลูกค้าเสียชีวิตไปก่อน จึงมองหาบริการเข้ามาช่วย และเลือกใช้โซโกะจังเพราะเชื่อต่อ API กับ Shopee ที่เป็นหน้าร้านหลักของ Dearly Beautie จึงสามารถกวาดออเดอร์ทั้งหมดที่จ่ายเงินเรียบร้อยไปจัดส่งเองได้เลย ไม่ต้องมานั่งป้อนเอง

ข้อดีของการใช้ Sokochan คือรู้ fix cost ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีเงินเหลือไปลงทุนอื่นๆ เท่าไหร่ และระบบ report ของโซโกะจังทำให้วางแผนจัดการสินค้าได้ง่าย ดูเลยว่าสินค้าส่งไปจังหวัดไหนเยอะๆ แล้วไปบูสท์จังหวัดนั้นๆ ก็ได้ผลดี

เก่งสิ่งไหน ถนัดสิ่งไหน ก็ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เรื่องแพ็กของ จดสต็อก อย่าไปทำเอง ให้ผู้เชี่ยวชาญทำให้ แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ถนัด

คุณนุ – พาซาด้า ขายเสื้อผ้าออนไลน์

ร้านเราขายเฟซบุ๊กกับไลน์เป็นหลัก เน้น Social-commerce ใช้แอดมิน 10 คน ให้แต่ละคนดูแลแต่ละสินค้าไปเลย ค่าส่งต่อเดือน 4-5 แสนบาท ซึ่งเราใช้การรับชำระแบบ COD เพราะอุดช่องโหว่เรื่องไม่โอน ก็คนไทยมีนิสัยขี้เกรงใจไง เมื่อของไปถึงหน้าแล้ว คนไทยก็มักจะจ่าย ทำให้เป็นช่องทางชำระเงินหลักเลย ตีกลับน้อย

แนวคิด ให้แอดมินทุกคนเป็นเหมือนลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไร แอดมินก็ต้องให้บริการได้ ทำให้แอดมินสามารถปิดการขายได้เก่ง รู้จริตลูกค้า (เพราะแอดมินก็ชอบช้อปออนไลน์) ทำให้รู้ว่าจะปิดการค้ายังไง

ทำไมถึงควรขายของบน Lazada

สุพิศ พันธุโสภณ Head of Partnership, บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ชี้ให้เห็นว่าการเปิดร้านออฟไลน์ ลงทุนต่ำๆ ก็หลักแสน หรือเล็กๆ ก็หลักหมื่น แถมมีคนผ่านหน้าร้านจำนวนหนึ่ง ยอดขายตันได้ง่าย แต่ถ้าขายของออนไลน์ก็ไม่ต้องเสียค่าเปิด ไม่ต้องเฝ้าร้าน ไม่ต้องเสียเงินจ้างคนเฝ้า ซึ่ง Lazada มีคนเข้าเว็บ นับเฉพาะเข้าผ่านคอมพิวเตอร์ก็ 46 ล้านครั้งต่อเดือนแล้ว

จะขายสินค้าอะไร เลือกแพลทฟอร์มการขายให้เหมาะสม ขายในที่ที่มีคนซื้อ

นอกจากนี้ลาซาด้ายังมีข้อดีที่มีการจ่ายค่าการตลาดบางส่วนอยู่แล้ว ซื้อ adword ให้สินค้าต่างๆ อยู่แล้ว ก็ทำให้สินค้าเรามีโอกาสขายได้มากขึ้น และการขายผ่านลาซาด้ายังมีการจัดการที่ดี ส่งสินค้าให้รวดเร็ว ถูกต้อง แพ็คให้มีคุณภาพ จะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้ ถ้ามีสินค้าเสียหาย ไม่ถูกต้องก็ต้องยินดีรับคืน

lazada ขายยางรถยนต์ได้มาก เพราะสามารถเลือกชนิดที่ต้องการได้เลย จากที่ร้านในจังหวัดอาจจะไม่มี

คำแนะนำในการขาย

  • คำอธิบายที่ดี จะช่วยให้ขายดีขึ้น 30% ตั้งชื่อให้ครอบคลุม รายละเอียดครบ รูปทุกมุมทุกด้าน รูปสีอื่นๆ ก็อาจจะช่วยให้อัปเซลล์ได้ หรือมีวิดีโอประกอบ
  • การแพ็คสินค้าและความเร็วในการจัดส่ง เป็นเรื่องที่ลูกค้ารีวิวเยอะมาก อาจจะเยอะกว่าคุณภาพสินค้าอีก อย่าปล่อยให้ส่งช้าจนลูกค้าด่า
  • เจ้าเล็กก็อาจจะขายดีกว่าเจ้าใหญ๋ก็ได้ ถ้าใส่ใจกับโลกออนไลน์

เนื้อหาเน้นๆ ในการทำธุรกิจออนไลน์

วิค-อัครวัฒน์ เศรษฐีเชาวลากุล นักธุรกิจที่อยู่ในแวดวง e-commerce และการตลาดออนไลน์มากกว่า 10 ปี ได้ให้คำแนะนำที่กระชับสำหรับนักธุรกิจออนไลน์ทุกคนคือ

การหาลูกค้า

ปัจจุบันเราสามารถหาลูกค้าได้ทั้งแบบ free traffic แต่รูปแบบของการฝากร้านนั้นไม่เหมาะ เพราะทำให้ภาพลักษณ์เราเสีย และเป็นการเข้าไปขัดการสนทนาของผู้อื่น จึงแนะนำให้เข้าไปแบบเป็นผู้เชี่ยวชาญแทน เช่นค้นหากระทู้คุยเรื่องที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เช่นขายเมล็ดกาแฟ ก็เข้าไปให้คำนำแนะการเลือกกาแฟเป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่อยากให้ทิ้งทวิตเตอร์ โดยเฉพาะถ้าเราขายของสำหรับเด็กกลุ่ม 13-18 ปีได้ เพราะวัยรุ่นไปใช้เยอะ (หนีพ่อแม่จากเฟซบุ๊กมาใช้) แต่ free traffic ทำแล้วอาจจะเหนื่อยหน่อย ทว่ายั่งยืนกว่าการจ่ายเงินบูสท์ ที่บูสท์จบก็จบกัน ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ

ส่วน paid traffic ให้เน้นประเด็นว่าลูกค้าจะได้อะไรจากสินค้าของเรา ไม่ใช่โปรโมทสรรพคุณสินค้า เช่นลูกค้าซื้อสว่านเพราะต้องการรู ไม่ใช่ต้องการสว่าน ถ้าจะโปรโมทก็ควรเน้นประเด็นว่าทำให้งานลูกค้าง่ายขึ้น เจาะรูเบาแรงขึ้น ไม่ใช่เน้นคุณสมบัติว่าหมุนได้กี่รอบ หรือมีลูกเล่นอะไร

เทคนิคการซื้อ facebook ad

  • ให้ตั้งงบเล็กๆ แล้วซื้อหลายๆ แอดแทนการปรับโฆษณาเดิม เพราะโฆษณาใน facebook จะค่อยๆ จูนตัวเองให้เหมาะเมื่อระยะเวลาผ่านไป (อัลกอริทึมเฟซบุ๊กต้องใช้เวลายิงโฆษณาอย่างน้อย 3 วัน กว่าจะรู้ว่าเวิร์คไม่เวิร์ค) การไปขยายงบโฆษณาที่ดีแล้วทำให้เฟซบุ๊กต้องคำนวณใหม่ และไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม
  • ต้องตาม conversion ว่าลงโฆษณาไปแล้วได้รายได้ตามสัดส่วนที่ลงไหม โดยการติดตั้ง facebook pixel ลงในเว็บ จะได้เทียบสัดส่วนได้ว่าคนกดซื้อสำเร็จจากโฆษณาเยอะแค่ไหน
  • ทำ retargeting ในเฟซบุ๊ก โดยใช้ pixel ช่วยแทร็กคน เช่นส่งโฆษณาไปซ้ำคนที่เข้าเว็บเราแล้วแต่ยังไม่ซื้อ
  • ให้บูสท์โพสต์ไลฟ์ที่จบไปแล้ว จะทำให้คนไม่รู้ว่าเป็นเทปบันทึกไลฟ์ ก็จะได้เสียงตอบรับที่ดีกว่า

เทคนิคการเติบโตทางการขาย

  • ลองเปิดหลายๆ เพจที่ขายสินค้าเดียวกัน หาลูกค้าเพิ่ม เพราะถ้าเราไม่ทำ ก็มีคนทำแข่งอยู่ดี
  • เพจที่เคยขายอะไรแล้ว ก็ลองขยายไลน์สินค้าดู เพราะลูกค้าเชื่อใจเราแล้ว ทำให้ขายได้เงินง่ายกว่า เช่นเคยขายเสื้อผ้า ก็ลองขายกระเป๋า ขายอื่นๆ เสริมดู ลูกค้าเชื่อใจว่าเราส่งของชัวร์ ก็ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
  • เจอแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ลงเพิ่มไปเลย ขยายหน้าร้านไปเยอะๆ เหนื่อยเพิ่มขึ้นไม่เยอะ แต่ได้เงินกลับมาเยอะ
  • กระบวนการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่รู้ยอดขาย ไม่รู้จุดคุ้มทุน ไม่รู้ว่าเงินสดเรามีเท่าไหร่ ก็รอวันเจ๊ง เพราะธุรกิจเปิดมาเพื่อกำไร ไม่ใช่ยอดขาย บางรายขายดี ทำงานเป็นบ้าเป็นหลังทั้งวัน แต่คำนวนออกมาแล้วได้เงินนิดเดียว หรือขาดทุนเพราะคำนวณต้นทุนผิด ก็เจ๊ง ถ้าไม่มีเวลานั่งจดให้ใช้เทคนิคนับเงินบวก ดูว่าสุดท้ายแล้วเงินในบัญชีเพิ่มไหม ถ้าเงินในบัญชีลบ ต้องไปหาปัญหาแล้ว
  • ต้องแทร็กศักยภาพในการทำงานของลูกน้อง และของเราด้วย
  • การตอบลูกค้าอย่าใช้ copy-paste ให้ตอบให้ตรงคำถาม แล้วค่อยๆ แก้ไปว่าตอบยังไง ถึงปิดการขายได้

ช่วงถามตอบ

เรื่องสำคัญในธุรกิจ

  • cash flow เป็นเรื่องสำคัญ อย่าให้เงินสดขาดมือเด็ดขาด
  • การลดรายจ่าย (fixed cost) ไม่สำคัญกว่าการหารายได้ ถ้ายอดขายสะดุด ให้ไปหาทางเพิ่มยอดขาย ไม่ใช่เอาคนออก
  • ถ้ามีลูกน้องดีๆ อย่าให้ไปไหน
  • อย่าตัดราคาสินค้าจนไม่มีกำไร ให้หาวิธีเพิ่มมูลค่าของสินค้าดีกว่า

รู้จัก S-commerce (Social Commerce)

โดยคุณศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์, หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ, Shopee ประเทศไทย

เทรนด์ Social commerce (ขายผ่าน facebook, instagram, line) กำลังมาแรงในไทยเพราะขายได้มาก เพราะสามารถพูดคุยกับผู้ขายก่อนซื้อได้ ซึ่งการขายของ s-commerce ให้ได้ผลดี ก็ต้องใส่ข้อมูลรายละเอียดสินค้าให้ครบ สินค้าต้องแชร์ไปได้ทุกที่ และสำคัญสำหรับผู้ขายคือต้องลงของให้ง่าย สามารถลงผ่านมือถือได้ (ซึ่ง Shopee ทำได้)

และ Shopee มีคลาสสอนการขายของที่ดีมากมาย ให้ผู้ค้าได้มาเรียนกัน เพราะ s-commerce ในอนาคต คนซื้อจะมีความรู้มากขึ้น คนขายจึงต้องเรียนรู้ให้มากๆ

LINE@ สามารถช่วยธุรกิจได้อย่างไร

สกุลรัตน์ ตันยงศิริ, Head of LINE@, Line ประเทศไทย
  • ช่วย Awareness ทำให้คนค้นหาร้านเจอ หาร้านได้จากแอปไลน์เลย เช่นหาร้านซูซิที่อยู่ใกล้ๆ ได้ (ถ้าใส่ข้อมูลสถานที่) และมีหน้าโฮมให้ลูกค้าดูได้
  • นอกจากนี้ยังใช้ส่งโปรโมชั่นได้ด้วย เช่นส่ง rich message เพื่อสร้างยอดขาย หรือทำบัตรสะสมคะแนนในแอปไลน์ แทนการต้องพิมพ์กระดาษมาให้ลูกค้าสะสม
  • บัญชีอย่างเป็นทางการของไลน์แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
    • Official Account บัญชีระดับบน ลูกเล่นเยอะสุด เสียค่าใช้จ่ายสูง จึงเหมาะสำหรับองค์กรใหญ่ๆ
    • Apporve Account บัญชีที่ได้รับการรับรองว่าน่าเชื่อถือ มีร้านจริงๆ สามารถค้นเจอจากหน้าค้นได้ ทำโปสเตอร์ได้
    • Standard Account บัญชีปกติที่จะได้หลังเปิด LINE@
  • LINE@ ยังได้ reach 100% ไม่เหมือนเฟซบุ๊กที่ไม่ได้ส่งเนื้อหาถึงทุกคนที่ไลค์
  • ให้ลองติดตาม LINE Business Center ก็จะมีเทคนิคต่างๆ ให้ชมมากมาย หรืออ่านบล็อกที่ at.lineapp.me

สรุปงานวันนี้ 5 บาปทางธุรกิจที่ห้ามทำ

โดย วีระ เจียรนัยพานิชย์ (@oweera) นักกล ยุทธ์การตลาดชั้นนำ
  1. ไม่รู้จักลูกค้าตัวเอง
  2. ไม่วางแผนและไม่วัดผลจะไม่รอด
  3. ไม่บริหารเงินสด จัดการภาษีให้ได้
  4. ไม่สนใจเทคโนโลยี
  5. ทำเองทุกอย่างคนเดียว ต้องโฟกัสเรื่องที่สำคัญ งานรองๆ ให้คนอื่นทำ

รู้จัก Marketing 4.0

หนุ่ย-พงศ์สุข พิธีกรภายในงาน

ยุคแรก คือสร้างความจดจำ ทำสินค้ามาแล้วหาวิธีขาย ยุค 4P Price, place (ลุกค้าอยู่ที่ไหน), promotion (ad, pr อะไรก็ได้ที่ทำให้ซื้อเยอะขึ้น)
ยุคที่ 2 ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำของที่ลูกค้าต้องการ สร้างสัมพันธ์กับลูกค้า เช่นการทำระบบสะสมแต้ม
ยุคที่ 3 สร้างศรัทธา สร้างสัมพันธ์ สร้างสาวก ทำ CSR
ยุคที่ 4 คอมมูนิตี้ สร้างเครือข่ายของลูกค้าเรา ต้องรู้ว่าลูกค้าเราอยู่ที่ไหน พัฒนาความรู้ให้ลูกค้า

สรุป Marketing 4.0 คือใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ สร้างเครือข่าย เก่งอะไรให้ทำเรื่องนั้น เรื่องอื่นๆ ให้คนอื่นดูแล

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตั้ง’สมาคมฯธุรกิจออนไลน์ไทย’จัดระเบียบ ผู้ค้ารับมือรัฐเก็บภาษี


18 ต.ค. 60  ธุรกิจ

นายจัตุรงค์ จันทะโน นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการค้าออนไลน์มากกว่า 10 รายได้รวมตัวกันตั้ง “สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ไทย” ขึ้นมา จดทะเบียนการค้ากับทางกระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล

Gen Z อยู่ไม่ได้ถ้าขาด YouTube


24 พ.ค. 60  Social Media

ในยุคดิจิตอลทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า YouTube คืออีกหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้เด็กวัยรุ่น ซึ่งมีผลสำรวจล่าสุดของ AdWeek ที่จับมือกับ Defy Media เปิดเผยว่ามีผู้ใช้ในกลุ่ม Gen-Z ถึง 50% ยอมรับว่ารับไม่ได้หากชีวิตขาด YouTube ไป

ผุดแคมเปญต้านเพจ Dad Mom and Kids ร้องแพทย์สภาตรวจจริยธรรม


27 พ.ค. 60  ติดเกมส์

แบไต๋เคยนำเสนอเรื่องราวของนพ. อิทธิฤทธิ์ จุฬาลักษณ์ศิริบุญ ผู้สร้างเพจ Dad Mom and Kids กันไปเมื่อคราวที่คุณหมอแสดงความคิดเห็นต่อต้านวิดีโอเกม ที่ไม่ให้เด็กๆ ในครอบครัวไปเกี่ยวข้องกับวิดีโอเกมใดๆ เลย ล่าสุดเพจ Dad Mom and Kids ของคุณหมอกลายเป็นประเด็นในโลกโซเซียลอีกครั้งเมื่อมีผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ใน Change.org เรียกร้องให้ “แพทยสภา ตรวจสอบจริยธรรม นพ.อิทธิฤทธิ์ จุฬาลักษณ์ศิริบุญ”

“FireEye” ชี้องค์กรในไทยเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงกว่าองค์กรอื่นทั่วโลก!!


20 พ.ค. 59  ภัยคุกคามออนไลน์

19 พฤษภาคม 2559 – ไฟร์อาย อินคอร์เปอเรชั่น (NASDAQ : FEYE) ผู้นำด้านการหยุดยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ขั้นสูงในปัจจุบันเผยถึงผลสำรวจว่า กว่า 43% ขององค์กรในประเทศไทยตกเป็นเป้าของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่งอัตราดังกล่าวนับเป็นตัวเลขที่สูงเกือบ 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 15%)